วันนี้ ( 26 พ.ย.67 ) เทศบาลตำบลแม่เมาะ ร่วมกับ กฟผ.แม่เมาะ ร่วมตรวจสอบการปฏิบัติการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการทำเหมืองแร่
คณะตรวจสอบฯและเจ้าหน้าที่ฯ ลงพื้นที่แหล่งภาพเขียนสีดอยผาตูบ และ บริเวณแหล่งโบราณคดีดอยผาตูบ ตามที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการทำเหมืองแร่ ได้มีการถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับการติดตามและตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษในการประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 โดยให้มีการติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการทำเหมืองแร่ และการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในการทำเหมือนแร่ พร้อมทั้งรายงานให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการทำเหมืองแร่ทราบ
โดยวันนี้ ( เทศบาลตำบลแม่เมาะ ร่วมกับ กฟผ.แม่เมาะ) ร่วมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์สภาพพื้นที่ของภาพเขียนสีดอยผาตูบ และ แหล่งโบราณคดีถ้ำช้างเผือก อยู่บนภูเขาหินปูนดอยผาตูบ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเหมืองแม่เมาะ ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ตามที่กรมศิลปากรร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.แม่เมาะ ) สำรวจพบในปี พ.ศ.2557 และ 2559 ตามลำดับมาจนถึงปัจุบัน
สำหรับแหล่งภาพเขียนสีดอยผาตูบตั้งอยู่บริเวณเพิงผาด้านตะวันออกของเทือกเขาหินปูนดอยผาตูบ ซึ่งบริเวณนี้ได้พบภาพเขียนสีกลุ่มเล็กๆ จำนวน 3 กลุ่ม โดยภาพเขียนสีกลุ่มที่ 1และ3 นั้นตั้งอยู่บริเวณเพิงผาเดียวกันที่พิกัด UTM 47 ONA 2024353 N 0581880 E ส่วนภาพเขียนสีกลุ่มที่ 2 นั้นอยู่ห่างจากกลุ่มที่ 1 และ3 ไปทางทิศใต้ประมาณ 80 เมตร ที่ พิกัด UTM 47 ONA 2024314 N 0581807 E มีความสูง 524 เมตร และ 465 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตามลำดับ
นอกจากนี้ลักษณะทางกายภาพของแหล่งกลุ่มภาพเขียนสีดอยผาตูบ 1-3 อยู่บริเวณเพิงผาด้านตะวันออกของดอยผาตูบ ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของแหล่ง เป็นเทือกเขาและไหล่เขา ซึ่งวางตัวในแนวทิศเหนือ – ทิศใต้ ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ลาดชันลงไปสู่เชิงเขาซึ่งมีร่องน้ำเล็กๆ เป็นแหล่งน้ำชั่วคราวเฉพาะในช่วงฤดูฝน ด้านตะวันตกของเทือกเขาเป็นเหมืองแม่เมาะ
ภาพ/ข่าว : งานประชาสัมพันธ์ เทศบาลตำบลแม่เมาะ