ลงพื้นที่เกษตรกรบ้านปงชัย พบการระบาดแมลงเพลี้ยกระโดดหลังขาวระบาด

เกษตรกรบ้านปงชัย พบการระบาดแมลงเพลี้ยกระโดดหลังขาวระบาด ทำลายนาข้าวเสียหาย
โดยการนำของนายเอนก แก้วกำพล นายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ พร้อมด้วยทีมบริหาร ประธารสภาเทศบาลตำบลแม่เมาะ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลแม่เมาะ และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่เกษตรกรบ้านปงชัย พบการระบาดแมลงเพลี้ยกระโดดหลังขาวระบาด
—————————
โดยเฉพาะแปลงนาหว่านจะมีปัญหาการระบาดมากกว่านาดำ และแปลงที่มีการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราสูงควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากต้นข้าวมีสภาพอวบน้ำเหมาะแก่การดูดกิน และขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดด
เพลี้ยกระโดดหลังขาว เป็นแมลงจำพวกปากดูด ตัวเต็มวัยคล้ายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ปีกมีจุดดำที่กลางและปลายปีก และมีแถบสีขาวตรงส่วนอก ระหว่างฐานปีกทั้งสอง ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลถึงสีดำ ลำตัวสีเหลือง มีทั้งชนิดปีกสั้นและปีกยาว
เพศผู้ พบเฉพาะชนิดปีกยาว ลำตัวยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร
เพศเมีย ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร
เริ่มเข้ามาในแปลงข้าวช่วง 30 วัน หลังปลูก เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถสังเกตการทำลายของเพลี้ยกระโดดหลังขาวได้จากการหมั่นสำรวจแปลงนา ข้าวที่ถูกเพลี้ยกระโดดหลังขาวทำลายจะมีใบสีเหลืองส้ม
เมื่อมีปริมาณแมลงมาก ต้นข้าวอาจจะถูกทําลายจนเหี่ยวและแห้งตายในที่สุด เพลี้ยกระโดดหลังขาวจะอพยพออกจากแปลงข้าวก่อนที่ข้าวจะออกดอก ระดับเศรษฐกิจที่จะต้องจัดการป้องกันกำจัด
เมื่อตรวจพบเพลี้ยกระโดดหลังขาวที่โคนต้นข้าวเหนือระดับน้ำในนาข้าวเฉลี่ยตั้งแต่ 10 ตัวต่อจุดขึ้นไป (นาหว่าน 10 ต้น นับเป็น 1 จุดสำรวจ นาดำ 1 กอ นับเป็น 1 จุดสำรวจ
และพบศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยกระโดด คือ มวนเขียวดูดไข่ ในอัตราส่วน มวนเขียวดูดไข่ ต่อเพลี้ยกระโดดหลังขาว น้อยกว่า 1:5 จะต้องทำการป้องกันกำจัด
ข้อมูลจากเกษตรจังหวัดลำปาง กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดหลังขาวสามารถป้องกันได้โดยปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน เช่น สุพรรณบุรี 60 ชัยนาท 1 สุพรรณบุรี 1 กข31 เป็นต้น โดยปลูกสลับฤดูปลูกอย่างน้อย 2 พันธุ์ และอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงดิน มวนเขียวดูดไข่ แมงมุมเขี้ยวยาว แมลงปอบ้าน แมลงปอเข็ม เป็นต้น
หากสำรวจแปลงนาแล้วเริ่มพบเพลี้ยกระโดดหลังขาวในนาข้าว ป้องกันโดยใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย อัตรา 250 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นในช่วงเวลาอากาศเย็นหรือความชื้นสัมพัทธ์สูง เพื่อให้มีโอกาสสัมผัสกับตัวแมลงมากที่สุด กรณีพบเพลี้ยกระโดดหลังขาวมากกว่า 1 ตัวต่อต้น ให้ไขน้ำออกจากแปลงนา และควบคุมระดับน้ำในนาข้าว
โดยการระบายออกเป็นครั้งคราว แบบเปียกสลับแห้ง แต่หากสถานการณ์รุนแรงและจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง ควรใช้ในอัตราตามฉลากแนะนำ เช่น อิมิดาโคลพริด10 % SL 15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นต้น ไม่ใช้สารอะบาเมกติน หรือสารที่มีพิษร้ายแรงต่อแมลงศัตรูธรรมชาติ ก่อให้เกิดพิษต่อสัตว์น้ำและมลพิษต่อสภาพแวดล้อมในนาข้าว
ขอบคุณบทความประกอบข่าวจาก : เกษตรจังหวัดลำปาง

Related posts