ประกาศจังหวัดลำปาง เรื่อง กำหนดมาตรการขอความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมไฟป่าและการเผาพื้นที่โล่งทุกชนิด ยกเว้นพื้นที่ตามแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง
จังหวัดลำปาง พิจารณาแล้ว พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่การเกษตร ในพื้นที่ริมทางหลวง พื้นที่ชุมชน มีกฏหมายเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน ตลอดจน นโยบายของรัฐ ห้ามการเผาในพื้นที่โล่งทุกประเภท โดยไม่มีการกำหนดห้วงระยะเวลาให้ดำเนินการได้แต่อย่างใด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า และการเผาในพื้นที่โล่งทุกชนิด รวมถึงให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดลำปาง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 15 ได้บัญญัติให้ผู้อำนวยการจังหวัด รับผิดชอบป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตจังหวัด ประกอบกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564- 2570 และแผนป้องกันและบรรเทา
สาธารณภัยจังหวัดลำปาง พ.ศ.2564-2570 จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 15 มาตรา 21 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ประกาศกำหนดให้ทั้ง 13 อำเภอ ของจังหวัดลำปาง
งดเว้นการเผาป่า เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) เผาขยะ เผาเศษไม้ใบไม้ การเผาวัชพืชสองข้างทาง และการเผาในพื้นที่โล่งแจ้งทุกกรณี ในพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อป้องกันไฟป่า ยกเว้นการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 หรือมีการควบคุมโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิด ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยงาน ดำเนินการ ดังนี้
1) ให้ทุกหน่วยงานสนธิกำลังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ ลาดตระเวน ป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเผาในพื้นที่ทุกประเภท (ยกเว้นพื้นที่กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงในห้วงเวลาที่กำหนด) หากพบการลักลอบเผาให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
2) จัดชุดรณรงค์ประชาสัมพันธ์แบบเคาะประตูบ้าน รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ไม่ให้ดำเนินการเผาในพื้นที่โล่งทุกชนิด สำหรับอำเภอ ขอให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ประชาสัมพันธ์กำกับดูแลชุมชนในเขตการปกครองตนเอง มิให้มีการเผาในพื้นที่โล่งทุกประเภทด้วย
3) การบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามหลักวิชาการ และแผนงานที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลพื้นที่แล้วเท่านั้น โดยให้มีการจัดทำแนวกันไฟป้องกันการลุกลามไปในพื้นที่ป่าใกล้เคียง ภายใต้การควบคุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากมีสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รุนแรงในพื้นที่ ให้หยุดดำเนินการจนกว่าสถานการณ์เหมาะสม
4) การดำเนินการตามข้อ 1 ถึงข้อ 3 หากเกิดปัญหา อุปสรรค ให้ศูนย์ติดตามสถานการณ์(War Room ระดับอำเภอ) เร่งรัดแก้ไขปัญหา หากเกินขีดความสามารถให้รายงานให้ศูนย์ติดตามสถานการณ์ (War Room ระดับจังหวัด) ทราบโดยด่วน เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาต่อไป
ประกาศ ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567